19 October 2013

การเลือกตั้งของคนกลุ่มหนึ่ง กับความหวังของกองเชียร์ทั้งประเทศ

ผ่านไปแล้ว แม้ว่าจะติดขัดหลายอย่าง มีทั้งแบบค้านสายตา และความไม่น่าไว้วางใจ แต่ผลที่ออกมา การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่มีผู้ลงแข่งขันเพียง 2 คน และมีตัวแทนสมาชิกของสมาคมฯ มีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งเพียง 72 เสียง

ผลการเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ - กกต.เสียงข้างมากไม่รับรองการเลือกตั้งในครั้งนี้) วรวีร์ มะกูดี สามารถคว้าชัยชนะต่อ วิรัช ชาญพานิชย์ ด้วยคะแนน 42 ต่อ 28 คะแนน ซึ่งเป็นการอยู่ในตำแหน่งเป็นวาระที่ 4 ติดต่อกัน

จริงๆ ผมมีคำถามมานานแล้ว ว่ากองเชียร์ ผู้ซึ่งชื่นชอบ-สนับสนุน-ศรัทธา ต่อทีมสโมสรฟุตบอล นั้นจะมีทางส่งความคิด-ความเห็น สิ่งที่อยากให้สังคมฟุตบอลไทยพัฒนาไปในทางไหน

การเลือกเเชียร์ฟุตบอลสโมสร มันก็เหมือนกับการเลือกเชียร์พรรคการเมือง ? การที่ตัวแทนสโมสรไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ แต่แฟนบอลได้แต่ยืนเกาะรั้ว ดูว่าใครเลือกใคร ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรม จากการกระทำของสโมสร-และตัวแทน

การเลื่อกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป อาจเรียกได้ว่า กองเชียร์ทั้งประเทศไม่สนับสนุนผลที่ออกมา จากผลงานที่ทำมา 3 สมัย ทีมชาติไทยไม่เคยประสบความสำเร็จในเวทีโลก แต่ก็ยังสามารถชนะการเลือกตั้ง และกลับเข้ามารับตำแหน่งต่อไปได้อีก

ถ้าเราจะทำให้สโมสรฟุตบอล กลายเป็นสถาบัน ที่มีการใช้ระบบประชาธิปไตยมาเป็นส่วนในการผลักดันนโยบาย จากสโมสรเอง-หรือจากแฟนบอล ส่งต่อไปยังตัวแทน ผู้มีสิทธิตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับกับทีมฟุตบอลที่เขารัก-ศรัทธา

ลองคิดหาวิธีจัดการโครงสร้างสโมสร กับผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ฝ่ายบริหาร มีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ มากที่สุด แต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจ และมีผลต่อกองเชียร์ ก็น่าจะมีการสอบถามความเห็นจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบน รูปแบบที่คิดออกในเบื้องต้น อาจจะแบ่งเป็น สิทธิในการออกเสียงของผู้ถือหุ้น ในกรณีที่สโมสรนั้นมีการระดมทุน-ซื้อขายหุ้น หรือ สิทธิของสมาชิกบัตรเข้าชมรายปี-ตั๋วปี ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการได้สิทธิลงคะแนนแสดงความคิดเห็น

อยากบอกว่า อย่าให้ความรู้สึกของกองเชียร์ ไม่มีคุณค่าอะไร สโมสรตัดสินใจอะไรไปก็ต้องยอมรับไปเสียทุกอย่าง

ถ้ามุมมองแบบสุดโต่ง ถ้าสโมสรที่ชื่นชอบ มีนโยบายการบริหารหรือสนับสนุนในนโยบายที่กองเชียร์ไม่สนับสนุน ก็ควรมองหาทีมสโมสรอื่นเชียร์ไปเลยดีกว่าครับ