ต่อจาก
เดินเที่ยวพระนคร (ตอนที่ 1) ช่วงที่ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประมาณ 4 โมงเย็น สถานการณ์ม็อบยังไม่ค่อยคึกคักเลยตีตั๋วนั่งรถรางกทม. ชมเมืองฆ่าเวลาสักรอบก่อนดีกว่า
-
รถรางชมเมือง รอบเกาะรัตนโกสินทร์ คิวรถอยู่ที่มุมสนามหลวงบริเวณตรงข้ามกับวัดพระแก้ว รถวิ่งวนผ่านศาลหลักเมือง, ปากคลองตลาด, ท่าเตียน, โรงละครแห่งชาติ, ถนนพระอาทิตย์, บางลำพู และหอศิลป์เจ้าฟ้า เป็นต้น หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 30 นาที รถรางชมเมืองให้บริการทุกวัน 09.00-16.30 น. ค่าโดยสารคนละ 30 บาท

รถรางพาวนหนึ่งรอบ เวลาปราศรัยก็เริ่มคึกคัก เลยลงไปแวะถ่ายรูปสักชุดหนึ่ง แต่พอเดินไป-มา หลายรอบได้รูปมาจำนวนหนึ่ง ก็คิดว่า ถ้ายืน/นั่งอยู่ที่ม็อบก็อาจจะเบื่อได้ เลยคิดว่าไปเดินเล่นก่อนแล้วค่อยกลับมาสนามหลวงอีกรอบดีกว่า
คราวนี้เลยมุ่งหน้าออกมาทางศาลหลักเมือง กะว่าจะเดินไปเรื่อยๆ สักพักค่อยหาทางกลับมาม็อบใหม่ และเข้าไปถ่ายรูปที่ศาลหลักเมืองตอนประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่กำลังเก็บของเตรียมปิดให้บริการ แต่ก็ยังมีคนเข้าไปกราบสักการะอยู่ประปราย
-
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น (ข้อมูลจาก th.wikipedia.org)
ส่วนหนึ่งภายในบริเวณรั้วศาลหลักเมืองมีหอพระศาลาทรงไทย ภายในมีพระปางประจำวันเกิด พระสยามเทวาธิราช (จำลอง) และพระเสี่ยงทาย
-
พระเสี่ยงทาย เป็นของเก่าแก่คู่ศาลหลักเมืองมานาน ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีมาแต่ยุคสมัยใด เป็นพระที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก หน้าตักกว้างประมาณ ๑ ฟุต สูงประมาณ ๑ ฟุตกว่า ๆ ไม่ใหญ่และไม่หนักมากคติความเชื่อมีอยู่ว่า "ถ้าคนใดเข้าไปไหว้พระเสี่ยงทายแล้ว อธิษฐานขอพรอันใดแล้วถ้าสิ่งที่อธิษฐาน หรือบนบาน สำเร็จหรือได้ผล ก็จะยกพระเสี่ยงทายขึ้นแต่ถ้าสิ่งที่อธิษฐานบนบานไม่สำเร็จลุล่วงก็จะยกพระเสี่ยงทายไม่ขึ้น"

จากนั้นก็เดินผ่านคลองหลอดผ่านไปถึงเสาชิงช้า และวัดสุทัศน์ฯ
-
เสาชิงช้า มีความสูง 21 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ ใช้ในพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ยกเลิกพิธีโล้ชิงช้าไปในสมัยรัชกาลที่ 7 (ข้อมูลจาก th.wikipedia.org)

-
วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย จนกระทั่งในรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และในรัชกาลที่ 4 ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี" (สรุปข้อมูลจาก th.wikipedia.org)

หลังจากออกจากวัดสุทัศน์ฯ ประมาณ 19.30 น. ก็นั่งรถเมล์กลับมาที่สนามหลวง เดินถ่ายรูปได้อีกหลายรูป แล้วก็กลับบ้าน
สรุปแล้ว รูปถ่ายที่เดินเที่ยวพระนคร มีเยอะกว่ารูปม็อบพีทีวีที่สนามหลวงเสียอีก :-P
ดูรูปเพิ่มเติม:
-
Phra Nakorn Trip, Jun 2 2007 (flickr.com)
ข้อมูลเพิ่มเติม:
-
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร th.wikipedia.org
-
พระเสี่ยงทาย lekpluto.com
-
เสาชิงช้า th.wikipedia.org
-
วัดสุทัศน์ฯ th.wikipedia.org