บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่หลายคนเรียกว่า "บัตรคนจน" เพราะผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ถึงจะมีสิทธิได้รับบัตรดังกล่าว
ผู้มีสิทธิได้รับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" จะต้องมีรายได้ไม่เกินเท่าไร ?
ผู้มีสิทธิได้รับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท (สามหมื่นบาท) ต่อปี จะได้รับเงินสนับสนุน 300 บาท ต่อเดือน
- รายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ต่อปี จะได้รับเงินสนับสนุน 200 บาท ต่อเดือน
ทั้งนี้ ทั้งสองกลุ่ม จะได้รับวงเงินสำหรับใช้เป็นส่วนลด ซื้อก๊าซหุงต้น จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด อีกคนละ 45 บาท ต่อ 3 เดือน
"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" มีกี่ประเภท ?
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท แยกตามพื้นที่อยู่อาศัย
1. บัตร Hybrid 2 Chips (บัตรแบบมี 2 ชิป)
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบบ 2 ชิป จะแจกให้กับผู้ที่อาศัยใน 7 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ นครปฐม โดยจะสามารถใช้ร่วมกับระบบตั๋วรวม เพื่อนำไปชำระค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) และ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพ
2. บัตร EMV (บัตรแบบชิปเดี่ยว)
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเพียง 1 ชิป จะแจกให้กับผู้ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ 7 จังหวัดที่กล่าวไปข้างต้น โดยจะไม่สามารถนำมาชำระค่าโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้า แต่หากในอนาคต เปลี่ยนภูมิลำเนา สามารถทำเรื่องเปลี่ยนแปลงบัตรได้
วงเงินสำหรับค่าโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
วงเงินสำหรับ สนับสนุนค่าโดยสารสาธารณะนั้น มีแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ค่าโดยสาร รถเมล์ (ขสมก.) และ รถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ วงเงินรวมจำนวน 500 บาท ต่อเดือน
- ค่าโดยสาร บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาท ต่อเดือน
- ค่าโดยสารรถไฟ วงเงินไม่เกิน 500 บาท ต่อเดือน
ทั้งนี้ วงเงินในแต่ละส่วนจะคำนวณแยกจากกันอย่างชัดเจน นำมาใช้ทดแทนกันไม่ได้
วงเงินในบัตรหมด สามารถเติมได้หรือไม่ ? หากใช้ไม่หมด สะสมไปเดือนต่อไป ได้หรือไม่ ?
วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการเติมเงินแบบอัตโนมัติทันที ในวันที่ 1 ของทุกเดือน และ หากใช้ไม่หมดจะถูกลบออก สะสมไปใช้ในเดือนต่อไปไม่ได้
ทั้งนี้ หากในระหว่างเดือน ต้องการเพิ่มวงเงินในบัตร สามารถดำเนินการได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
วงเงินในบัตรไม่เพียงพอ ชำระเงินสดเพิ่มเติมได้
กรณีนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ แต่วงเงินในบัตรไม่เพียงพอ ผู้ถือบัตรสามารถชำระเงินสดเพิ่มเติม จนครบตามราคาสินค้า
สรุปสถานที่ ที่สามารถใช้งาน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"
- จุดรับชำระเงิน ตามร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
- จุดรับชำระเงิน ตามร้านก๊าซ ที่กระทรวงพลังงานกำหนด
- เครื่องแตะบัตร เพื่อชำระค่าโดยสาร รถเมล์ ขสมก. และ รถไฟฟ้า
- จุดจำหน่ายบัตรโดยสาร รถประจำทาง บขส.
- จุดจำหน่ายบัตรโดยสาร รถไฟ (รฟท.) ทุกสถานี
เริ่มใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้เมื่อไร ?
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยสามารถรับบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560
แต่สำหรับ ประชาชน ในเขต 7 จังหวัด จะสามารถรับบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2560 เนื่องจากไม่สามารถผลิตบัตรได้ทันวันที่ 21 กันยายน 2560
อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางอนุญาตให้วงเงินสวัสดิการ ที่เหลือจากการใช้ในเดือนตุลาคม สะสมไปใช้ต่อในเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นกรณีพิเศษ
ผู้มีสิทธิได้รับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวนเท่าไร ?
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 กรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่รายละเอียด จำนวนผู้สมัครรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนี้
- จำวนผู้ลงทะเบียน ทั้งสิ้น = 14,176,170 คน
- ไม่ผ่านคุณสมบัติ = 2,744,489 คน
- ผ่านคุณสมบัติทั้งสิ้น = 11,431,681 คน
รายละเอียดเพิ่มเติม: