10 ปี กฎบอสแมน 10 ปีแห่งการปลดสัญญาทาส

10 วันก่อนคริสต์มาส 1995 ฌอง มาร์ค บอสแมน (Jean-Marc Bosman) ได้ทิ้งพินัยกรรมไว้ให้เพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นยิ่งกว่ามรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะมันเป็นเหมือนกับวันประกาศอิสรภาพของ นักฟุตบอลอาชีพ ที่ปลดแอกสัญญาทาส กับสโมสรต้นสังกัด สำเร็จ บอสแมน เด็กหนุ่มที่เกิดเมื่อ 30 ตุลาคม 1964 ในประเทศเบลเยี่ยม เป็นเพียงนักฟุตบอลอาชีพทั่วไป ไม่ถูดจัดอยู่ในกลุ่ม ซุปเปอร์สตาร์ คอลูกหนังทั่วโลกอาจไม่รู้จักเขา ถ้าเขาไม่ได้ลุกขึ้นสู้ต่อความไม่เป็นธรรมของการค้าแข้งนักเตะ แถมยังเป็นฝ่ายชนะอีกด้วย 

 

เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อสัญญาค้าแข้งของเขากับ อาร์ซี ลีแอช ต้นสังกัดในลีกบ้านเกิดหมดลง จึงได้มีความคิดจะไปอยู่กับ เดิงแกร์เก ทีมใน ลีก เดอร์ ฝรั่งเศส ทว่ากลับถูก ลีแอช ขัดขวาง ทั้งที่เขาเป็นเพียงตัวสำรองในต้นสังกัดเท่านั้น ทว่าลีแอช กลับโก่งค่าตัวของ บอสแมน ทั้งที่อายุงานของเขาหมดลงแล้ว แถมยังลดค่าเหนื่อยของเขาในเดือนสุดท้ายถึง 60 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย และเมื่อบอสแมนขอร้องให้ปล่อยเขาไป กลับถูกต้นสังกัดเขี่ยลงไปเป็นตัวสำรองของทีมสำรอง บอสแมน จึงตัดสินใจไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมของเบลเยี่ยม พร้อมด้วยการว่าจ้าง ฌอง หลุยส์ ดูปงต์ ทนายชาวฝรั่งเศส เป็นคนเดินเรื่อง เพราะเขาต้องการฟ้อง อาร์ซี ลีแอช และสมาคมฟุตบอลเบลเยี่ยม ผ่านไป 3 เดือน บอสแมน ได้รับชัยชนะ ทว่าสมาคมฟุตบอลเบลเยี่ยม ขอยื่นอุทธรณ์ทันที ส่งผลให้บอสแมน ต้องรอคำตอบอีกเกือบหนึ่งปีเต็ม และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินยืนยันตามศาลชั้นต้น ส่งผลให้เขาย้ายทีมโดยไม่ต้องมีการจ่ายเงินค่าตัวหรือชดเชยใดๆ ให้กับต้นสังกัดเก่าทั้งสิ้น ทว่าเหตุการณ์ยังไม่ยุต เมื่อเขาถูกปฏิเสธคำขอรับเงินบำนาญในฐานะบุคคลว่างงาน เมื่อเขาหมดสัญญาค้าแข้งกับ เดิงแกร์เก และเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1992 สงผลให้เข้าต้องหันไปพึ่งศาลแห่งสหภาพยุโรป หรือ อีเจซี และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเป็นเวลาถึง 3 ปี รวมแล้ว บอสแมน ต้องรอถึง 5 ปี นับจากวันที่หมดสัญญากับ อาร์ซี ลีแอช กว่าที่ศาลแห่งสหภาพยุโรป จะยอมตัดสินให้เขาเป็นผู้ชนะคดี พร้อมด้วยเงินชดเชย 16 ล้านฟรังก์ เบลเยี่ยม (ประมาณ 22 ล้านบาท) และเกิดกฎการซื้อขายนักเตะใหม่ขึ้นมา โดยเรียกขานว่า กฎบอสแมน ก่อนหน้านี้ แม้นักฟุตบอลรายนั้นๆ จะหมดพันธะกับต้นสังกัดแล้ว แต่ก็จะยังย้ายไปไหนไม่ได้ หากต้นสังกัดไม่อนุญาตหรือไม่ได้ค่าชดเชยที่น่าพอใจ แต่ภายหลังเกิดกฎบอสแมน ที่เป็นเหมือนการปฏิวัติตลาดซื้อขายนักเตะลงอย่างสิ้นเชิง เพราะนักฟุตบอลอาชีพ สามารถเลือกต้นสังกัดใดก็ได้ตามความสมัครใจ เมื่อเหลืออายุงานกับต้นสังกัดเดิมไม่ถึง 1 ปี แต่การย้ายทีมจะเกิดขึ้นได้ก็คือหมดอายุงานลงแล้ว โดยไม่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย หรือค่าตัวใดๆ ทั้งสิ้น ส่งผลให้นักฟุตบอลอาชีพมีข้อต่อรองที่ได้เปรียบ ในการเรียกเงินค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนั้นยังทำให้ชาติสมาชิกกลุ่ม สหภาพยุโรป หรือ อียู ว่าจ้างผู้เล่นต่างชาติแต่อยู่ในกลุ่มอียูเช่นเดียวกัน โดยไม่ถึอเป็นโควต้านักเตะต่างชาติอีกด้วย ตามวัตถุประสงค์ของอียู ที่ต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของชาติสมาชิก และนักฟุตบอลระดับซุปเปอร์สตาร์ที่ใช้บริการของกฎนี้ในยุคแรกก็คือ สตีฟ แม็คมานามาน กองกลางทีมชาติอังกฤษ ที่ย้ายจาก ลิเวอร์พูล ไปยัง รีล มาดริด แห่ง สเปน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในการต่อรองของบอสแมนอย่างแท้จริง คือนักฟุตบอลรุ่นหลังที่หันมาใช้บริการกฎบอสแมนอย่างมากมาย ทว่าตัวเขาที่เป็นผู้ทำให้เกิดกฎดังกล่าว กลับแขวนสตั๊ดไปอย่างเงียบๆ แถม 10 ปีที่ผ่านมา กฎบอสแมนกำลังถูกโจมตีว่า ทำลายความสมดุลในโลกฟุตบอล เพราะสโมสรชั้นนำหลายทีม หันมาพึ่งซุปเปอร์สตาร์ในกลุ่มอียู ทว่ากลับไม่มีนักเตะท้องถิ่นแม้แต่คนเดียว ดังนั้นสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป หรือ ยูฟ่า กำลังผลักดัน กฎโฮมโกรน ให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ทีมฟุตบอลของแต่ละชาติ มีนักเตะลูกหม้ออยู่ในทีม 4 คนในปี 2006 และอาจเพิ่มเป็น 6 หรือ 8 คน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ผ่านมา 10 ปี กฎบอสแมน อาจมีทั้งด้านบวกและลบ แต่ชายชื่อ ฌอง มาร์ค บอสแมน ที่แม้ไม่เป็นที่รู้จักของใครๆ ขณะนั้น ก็ทำให้เราเห็นว่า เขาเดินทางไปหาจุดจบของตัวเองอย่างกล้าหาญท้าทาย รวมทั้งไม่มีสักครั้งเดียวที่เขาแสดงให้เห็นถึงความหวาดหวั่นพรั่นพรึง แน่นอนที่สุดว่า การดิ้นรนของเขา ย่อมจะต้องทำให้ใครที่ได้พบเห็น หรือรับรู้ พากันยกย่องชื่นชม 

คัดลอกจากคอลัมน์กีฬาของ ธรรมศักดิ์ มีแสงเงิน ในเนชั่นสุดสัปดาห์ (ฉบับ 2 ม.ค. 49) ...