8 ธันวาคม 2552

Web Accessibility อย่างง่าย 10 วิธี ที่ทำได้เลยวันนี้

บล็อกนี้สรุปมาจากบทความ 10 Simple Web Accessibility Tips You Can Do Today จากเว็บ Six Revisions (แชร์ผ่าน Google Reader โดย Radizขอบคุณครับ) เป็นวิธีในการทำเว็บให้ขยับเข้าไกล้คำว่า Web Accessibility มากขึ้น ซึ่งแต่ละข้อเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าคนดูแล-บริหารเว็บจะให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้


(รูปของ vanderwal จากเว็บ flickr.com (cc) — ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา)

1. ใช้ title attributes ที่มีความหมาย

การใช้ title attributes ที่มีความหมายในคำสั่ง hyperlink <a> ก็จะช่วยอธิบายเนื้อหาได้มากขึ้น

แต่หลายครั้ง ยังมีคนใส่แบบขอไปที เช่น <a href="portfolio.html" title="portfolio">Portfolio</a> แต่่ถ้าเราเปลี่ยนเป็น <a href="portfolio" title="Some artwork of the artist">Portfolio</a> อย่างนี้น่าจะเข้าใจได้มากขึ้นกว่าเดิม

2. เพิ่มเติมสิ่งจำเป็นไว้ในตอนต้นของเว็บเพจ

ในหลายๆ เว็บเพจ การที่จะข้ามไปยัง เมนู หรือ hyperlink ที่ใช้บ่อยๆ ภายในเว็บ จะต้องกด Tab จำนวนมากมาย (การกด Tab เป็นการเลื่อนโฟกัสไปยังตำแหน่ง hyperlink ถัดไป — ปกป้อง) ยิ่งถ้าต้องเปิดอ่านข้อมูลหลายๆ เว็บเพจ คงไม่สนุก

จะดีกว่ามั้ย ถ้าเอา เมนู หรือ hyperlink สำคัญ มาไว้ด้านบนสุดของเว็บ กด Tab ไม่กี่ครั้งก็เจอ (ในส่วนนี้ สามารถใช้ css / display: none position:absolute; top:-10000px; ช่วยซ่อนเพื่อความสวยงามได้ — ปกป้อง)

** อัพเดท: display: none จะทำให้โปรแกรมอ่านหน้าจอ เช่นโปรแกรม JAWS for Windows ไม่อ่าน div ที่ใช้คุณสมบัตินี้ ** (ขอบคุณ @donuzz ที่แนะนำคร้าบ)

3. ไม่ควรใส่คำขึ้นต้นของ title attributes ด้วยคำซ้ำๆ

ตัวอย่างที่ไม่ดีเช่น
<a href="/" title="Link to home">Home</a>
<a href="/products" title="Link to products">Products</a>
<a href="/contact" title="Link to contact">Contact</a>

เพราะการใช้คำขึ้นต้นที่ซ้ำกัน และไม่มีความหมาย จะทำให้การค้นหา หรือข้ามไปยัง hyperlink ที่ต้องการ ทำได้ยากลำบาก

4. ใช้งานหัวข้อ heading ให้ถูกต้อง

แท็ก Heading จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถข้ามไปยังหัวข้อที่ตัวเองสนใจ ยกตัวอย่างเช่น แท็ก <h2> จะต้องอยู่หลัง <h1> และเป็นส่วนย่อยของ <h1>

โดยเฉพาะถ้าเป็นเว็บที่มีเนื้อหาจำนวนมาก การใช้ Heading เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะช่วยให้ผู้ใช้ข้ามไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

5. ความแตกต่าง และความหมายของ page title

สิ่งแรกที่โปรแกรม screen reader จะอ่าน หลังจากโหลดข้อมูลครบคือข้อความที่อยู่ในแท็ก <title>

ถ้าคุณใช้ข้อความเหมือนกัน หรือไม่ใส่ข้อความใน page title ก็จะไม่ช่วยอะไรในการบอกข้อมูลเริ่มต้นของการอ่านข้อมูล

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

<head>
<title>About us - Six Revisions</title>
</head>

<head>
<title>All Article: Six Revisions</title>
</head>

<head>
<title>Six Revisions: Home</title>
</head>

6. การข้ามเมนูบอกทาง (skip navigation)

โปรแกรมช่วยอ่าน (screen reader) เป็นโปรแกรมที่อ่านเอกสาร HTML จากด้านบนไปยังด้านล่าง

การข้ามเมนูบอกทาง ทำได้ง่ายเพียงใส่ hyperlink ก่อนหน้าเมนูบอกทาง และกำหนดว่าให้อ่านเนื้อหาจากตรงไหนต่อไป

จากตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการข้ามเมนูบอกทางไปยัง เนื้อหา div#content (การข้ามเมนูนี้ สามารถใช้ css ซ่อนการแสดงผลได้เช่นกัน — ปกป้อง)

<a id="skipnav" href="#content" title="Jump to content">Skip Navigation</a>
<ul id="nav">
<li><a href="home.html" title="">Home</a></li>
<li><a href="about.html" title="">About</a></li>
<li><a href="blog.html" title="">Blog</a></li>
<li><a href="portfolio.html" title="">Portfolio</a></li>
<li><a href="contact.html" title="">Contact</a></li>
</ul>
<div id="leftCol">
<h1>My friends</h1>
<ul>
<li><a href="http://blogofafriend.com/" title="">Blog of a friend</a></li>
<li><a href="ttp://friendofablog.com/" title="">Friend of a blog</a></li>
</ul>
</div>
<div id="#content">
<h1>Page Title</h1>
...
</div>

7. ใส่ป้าย (label) ให้กับ form

เพื่อเป็นการบอกว่า form แต่ละช่องนั้น เป็นการกรอกข้อมูลอะไร ตัวอย่าง

<lable for="searchbox">Enter key words to search:</lable><input id="searchbox" name="searchbox" type="text" />

8. ทดลองดูเว็บของคุณ โดยปิด CSS และ JavaScript

วิธีหนึ่งในการทดสอบว่าเว็บไซต์นี้เข้าใช้งานได้ง่ายหรือไม่ คือการปิดการทำงานของ CSS และ JavaScript

การทดลองเปิดการทำงานดังกล่าวจะสามารถตรวจสอบ(เบื้องต้น)ได้ว่า เนื้อหาภายในเว็บไซต์จะสามารถเข้าถึง(ด้วยโปรแกรมช่วยอ่าน) หรืออยู่ในลักษณะที่เหมาะสมหรือไม่

9. ศึกษาเทคโนโลยี

บางครั้งการออกแบบที่ดีที่สุดคือให้คนที่ใช้งานเป็นคนออกแบบ แต่ถ้าคุณไม่รู้จักใครเลยที่จะช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ ก็มีเทคโนโลยีช่วยเหลือต่างๆ ให้เราพอจะเข้าใจว่าจะต้องออกแบบอย่างไร

ทดลองใช้เครื่องจำลองเช่น WebAnywhere ซึึ่งเป็นเครื่องมือที่สร้างจากความร่วมมือกันของ มหาวิทยาลัย Michigan และมหาวิทยาลัย Rochester ซึ่งถ้าหากคุณต้องการทดลองการใช้งานจริงเหมือนคนตาบอด เพียงจำคำสั่งที่คีย์บอร์ดไม่กี่อัน แล้วปิดหน้าจอ ถอดเมาส์ ลองดูว่าคุณจะสามารถอ่านและโต้ตอบกับเว็บของคุณเองได้หรือไม่

หรือจะตรวจสอบสภาพสี สำหรับคนที่มีปัญหาด้านการแยกสี ว่าจะมองเห็นเว็บไซต์ของคุณเป็นสีอะไร ลองที่เครื่องมือตรวจสอบสภาพสี (list of tools for evaluating colors)

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออีกมากที่จะช่วยให้คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ดูเพิ่มที่บทความ 10 เครื่องมือสำหรับออกแบบเว็บที่ทุกคนเข้าถึง (10 Tools for Evaluating Web Design Accessibility)

10. Web Accessibility ไม่มีผลกับผู้ใช้โดยรวม

การทำเว็บที่ทุกคนเข้าถึง เป็นเหมือนกับการสร้างสนามเด็กเล่น เป็นการออกแบบทางเลือกให้สามารถเข้าถึงได้หลายทาง ใช้งานได้หลายระดับ ทั้งผู้ชมระดับสูง และเปิดโอกาสให้ผู้ชมกลุ่มอื่น สามารถเข้าได้ง่ายด้วยเช่นกัน