ไปถึงถิ่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทั้งที ก็ต้องเก็บภาพบรรยากาศแบบ Photo Sphere มาฝาก แต่น่าเสียดายในการแข่งขัน AFC Champion League ทางเจ้าหน้าที่สนามไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพในสนาม (ถือกล้องนานๆ จะมีเจ้าหน้าที่เดินมาเตือน) เข้าใจว่าเป็นกฎของทาง AFC ที่ห้ามบันทึกภาพและวิดีโอ
ผลการแข่งขันในวันนั้น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เสมอกับ เวกัลตา เซนได (จากญี่ปุ่น) ไปอย่างไม่น่าเสีย คือ โดยตามตีเสมอ 1-1 ในนาทีสุดท้าย หลังจากออกนำไปก่อนในช่วงแรกของครึ่งหลัง ทำให้ต้องลุ้นกันถึงนัดสุดท้ายที่จะออกไปเยือน เอฟ.ซี.โซล และต้องชนะอย่างเดียวเท่านั้น แถมยังต้องลุ้นให้ เวกัลตา เซนได เก็บแต้มไม่ได้ในวันเดียวกัน
กลับเข้าเรื่องสนามเหย้าของทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ถ่ายภาพ Photo Sphere มา 2 ช็อต ด้านหน้าสนาม จาก 2 มุม ต้องบอกว่าสนาม Thunder Castle Stadium นั้นใหญ่โตอลังการจริงๆ สมชื่อกับคำโฆษณาว่าเป็นสนามแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผ่านมาตรฐาน World Class ของ FIFA
ข้อมูลสนาม: สนามฟุตบอล ที่หลายคนเรียกว่า นิว ไอ-โมบาย สเตเดียม (New i-Mobile Stadium) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม (Thunder castle Stadium) เป็นสนามเหย้าของทีมฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งอยู่ที่ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สนามแห่งนี้มีความจุ 24,000 ที่นั่ง โครงสร้างประกอบด้วยเหล็กและไฟเบอร์ จัดเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีลู่วิ่งคั่นสนามและผ่านมาตรฐานฟีฟ่า, เอเอฟซี และ เอเอฟเอฟ และยังผ่านมาตรฐานระดับเอคลาสสเตเดียมจากเอเอฟซี และยังผ่านมาตรฐานระดับเวิลด์คลาสจากฟีฟ่า
สนามแห่งนี้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างของฟิลิปส์อย่างมาตราฐานจะมีความสว่างของไฟอยู่ที่ 1,700 ลักซ์ โดยในส่วนอัฒจรรย์ฝั่งกองเชียร์นั้นมีเก้าอี้ที่นั่งเชียร์เป็นสีน้ำเงินเกือบหมดแต่จะใช้เก้าอี้สีขาวตรงที่มีคำว่า ธันเดอร์คาสเซิล (Thunder Castle)
พื้นของสนามฟุตบอล ซึ่งได้แบบมาจากพื้นสนามแสตมฟอร์ด บริดจ์ของสโมสรเชลซีจากประเทศอังกฤษ โดยใช้หญ้าแพทพารัมย์ จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของความนุ่มเป็นพิเศษ ทนทานต่อการใช้งานที่รุนแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก ลดการยุบหรือทรุดตัวของผิวสนาม ที่สำคัญยังช่วยให้นักกีฬาไม่บาดเจ็บเมื่อล้มลงในพื้นสนาม