ทุกวันนี้เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตมีมากมายมหาศาล การที่จะอ่าน-ฟัง-ดู สิ่งของทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ภายใน 24 ชั่วโมงนั้นอาจไม่เพียงพอ ผู้ให้บริการต่างๆ จึงพยายามจัดสิ่งที่คิดว่าผู้ใช้น่าจะสนใจ โดยเรียกกระบวนการเหล่านั้นว่า อัลกอริธึม (Algorithm) กล่าวคือ วิธีการประมวลผลข้อมูลจากกิจกรรมที่ผู้ใช้ชอบทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา แล้วประเมิน(ตัดสินใจแทน)ว่าผู้ใช้น่าจะชอบสิ่งที่ระบบจัดให้
ซึ่งเมื่อ อัลกอริธึม ทำงาน ผู้ใช้ก็จะได้เนื้อหาที่ตรงใจ-ถูกใจมากที่สุด และสามารถอยู่กับสิ่งนั้นได้นานโดยไม่เบื่อ เป้าหมายของระบบอัลกอริธึม คือให้ผู้ใช้งานอยู่กับระบบให้นานที่สุดโดยไม่เปลี่ยนไปที่อื่น ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้ให้บริการ เช่น ได้ค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น หรือ ค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น นั่นเอง
เอาล่ะ คราวนี้เมื่อระบบ อัลกอริธึม ทำงาน มันก็จะประมวลผลสิ่งของที่อยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ ผสมกับสิ่งที่ผู้ใช้ชื่นชอบ โดยอาจไม่มีการกำหนดช่วงเวลาของเนื้อหา ส่งผลให้เนื้อหาบางส่วน เป็นข้อมูลเก่า-ล้าสมัย แต่เนื้อหาแกนหลังมีความเกี่ยวข้องกัน ทำให้ผู้ใช้ต้องสังเกต วันที่เผยแพร่ เนื้อหานั้นเสมอ เพื่อที่จะเข้าใจบริบทต่างๆ ที่อยู่ในชิ้นงานนั้นๆ เช่น ข่าวเก่าแล้ว คลิปสัมภาษณ์นานแล้ว ประเด็นเนื้อหาล่าสมัยแล้ว เป็นต้น
ตัวอย่าง อัลกอริธึม ที่ไม่อ้างอิงเวลา โดยเน้นที่เนื้อหาเป็นสำคัญ เช่น เว็บไซต์ YouTube ที่อ้างอิงจากประวัติของผู้ใช้ว่าเคยดูคลิปวิดีโอเรื่องอะไรบ้าง แล้วคำนวณออกมาเป็นเนื้อหาแนะนำ
ตัวอย่าง อัลกอริธึม ที่ไม่อ้างอิงเวลา โอยเน้นที่ความสัมพันธ์เป็นสำคัญ เช่น เว็บไซต์ Facebook ที่จะแสดงเนื้อหาของเพื่อนที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยครั้งก่อนเสมอ หรือเว็บไซต์ Twitter ที่ในหน้า Home จะแสดงทวีตที่ได้รับความนิยมและมีความสัมพันธ์กับผู้ใช้มาในลำดับแรก
จากข้อมูลเกี่ยวกับ อัลกอริธึม ที่กล่าวถึงไปข้างต้น ทำให้เมื่อผู้ใช้เปิดดูเนื้อหาต่างๆ จำเป็นต้องสังเกต วันที่เผยแพร่ ก่อนแชร์ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของ วันเวลา และความทันสมัย-ล้าสมัย ของเนื้อหาที่แชร์ออกไป