ขั้นตอนขอเปลี่ยนใบอนุญาต-ชั่วคราว 1 ปี เป็นใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล 5 ปี และ เลื่อนล้อต่อภาษี

การขอใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล (5 ปี)

จากเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้บันทึกประสบการณ์ขั้นตอนการสอบใบขับขี่ไว้แล้ว มาคราวนี้ถึงเวลาต้องขอเปลี่ยนใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราว (อายุ 1 ปี) เปลี่ยนเป็น ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล (อายุ 5 ปี)

เปิดดูข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 หัวข้อการขอเปลี่ยนใบอนุญาตฯ สรุปได้ว่า ต้องเตรียมเอกสารดังนี้

  1. บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา
  2. ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราวฉบับเดิม
  3. ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน
  4. หลักฐานการแก้ไขรายการต่าง ๆ ในใบอนุญาต (ถ้ามี)

หลังจากพอทราบขั้นตอนคร่าวๆ ก็ไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (ถนนสวนผัก-ตลิ่งชัน) ที่เลือกไปที่นี่เพราะใกล้กับคอนโดขับรถไปไม่ถึง 15 นาที เมื่อไปถึงด้านหน้าสำนักงานขนส่งฯ ราว 9.00 น. ก็เดินออกมาหาคลินิกเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เมื่อได้ใบรับรองแพทย์แล้ว กลับไปเข้าคิวที่ช่องประชาสัมพันธ์พร้อมส่งเอกสารที่เตรียมไว้ทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ ได้รับบัตรคิวเวลา 9.25 น.

ระหว่างนั้นก็มีการตรวจสอบเอกสาร รอเรียกเข้าทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย โดยการทดสอบ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม

  1. ทดสอบตาบอดสี
  2. ทดสอบการตอบสนอง ให้เหยียบคันเร่ง เมื่อมีสัญญาณไฟแดง ให้สลับไปเหยียบเบรค
  3. ทดสอบสายตาทางกว้าง ตามองตรง ใช้หางตาดูสัญญาณไฟ
  4. ทดสอบสายตาทางลึก ขยับเสาในตู้ให้ขนานกัน

สรุปเวลาทั้งหมดตั้งแต่รับบัตรคิว จนได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง ได้รับใบขับขี่เพิ่มอีกหนึ่งใบ เวลา 11.00 น.

ทั้งนี้ในระหว่างที่ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว (ใบเดิม) ยังไม่หมดอายุ ให้ใช้ใบขับขี่ใบเดิมไปก่อน และเมื่อครบกำหนดแล้ว ค่อยเปลี่ยนใช้งานใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ใบที่ทำใหม่นี้แทน

การเสียภาษีรถยนต์ประจำปี (เลื่อนล้อต่อภาษี)

และด้วยที่ว่าไปถึงสำนักงานขนส่งฯ แล้ว ก็จัดการต่อภาษีรถยนต์ไปด้วยเลยในวันเดียวกัน ขั้นตอนกระบวนการไม่ยุ่งยาก เอกสารที่ต้องเตรียมได้แก่

  1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มรถ) หรือ ใช้สำเนาก็ได้ กรณีที่ใช้สำเนา ควรถ่ายสำเนาเพิ่มเติมเอาไว้ เพราะเจ้าหน้าที่อาจจะเก็บสำเนาไป ไม่คืนกลับมา
  2. ใบเสร็จ ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือที่เรียกติดปากว่า พ.ร.บ. โดยสามารถหาซื้อได้ที่ด้านหน้าสำนักงานขนส่งฯ หรือ ในกรณีซื้อประกันภัยรถยนต์ อาจมีแถม พ.ร.บ.มาให้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะฉีกหลักฐานด้านท้ายใบเสร็จ พ.ร.บ. เก็บไว้
  3. ถ้ากรณีรถยนต์มีอายุเกิน 7 ปี จำเป็นต้องมี ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (ตรอ.)
  4. เงินสำหรับชำระภาษี คิดตามขนาดของเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องยนต์ขนาด 1,497 ซีซี ต่อภาษีครั้งแรก จำนวนเงินที่ต้องชำระ 1645.50 บาท

ขั้นตอนง่ายมาก เพียงขับรถเข้าคิวรับบริการ บริเวณด้านหน้าสำนักงานขนส่งฯ ในโซนเลื่อนล้อต่อภาษี ถ้าให้จับเวลาตั้งแต่หัวหัวรถเข้าคิว จนกระทั่งได้ใบเสร็จรับเงินพร้อมป้ายติดหน้ารถ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10 นาทีเท่านั้น อาจะเป็นเพราะในช่วง 11 โมง ยังไม่ค่อยมีประชาชนมาใช้บริการมากนัก