เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอะไรขึ้น ที่ประเทศเวเนซุเอลา?

เพจ Workpoint News ได้สรุปสถานการณ์ล่าสุดของวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศเวเนซุเอลา (Venezuela) ในทวีปอเมริกาใต้ไว้ดังนี้

เกิดอะไรขึ้นที่เวเนซุเอลา?

หลายคนคงอาจจะพอเห็นข่าวว่าขณะนี้ประเทศเวเนซุเอลา (ตั้งอยู่ตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ติดกับประเทศ บราซิล, โคลอมเบีย และกายอานา) กำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 83,000% ต่อปี และอาจแตะระดับ 1,000,000% ต่อปี ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งที่เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรอง (oil reserves) อยู่มากที่สุดในโลกกว่า 3 แสนล้านบาร์เรล แต่แทนที่จะกลายเป็นประเทศร่ำรวย เวเนซุเอลากลับวนเวียนสู่วังวนของวิกฤติ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเวเนซุเอลา เราต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในปี 1999 ฮูโก ซาเวซ ชนะการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ในช่วงเวลากว่า 14 ปี ที่ซาเวซดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้มีการออกนโยบายทางสังคมหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศ เช่น การกำหนดราคาขายน้ำมันในประเทศ ให้อยู่ที่เพียงลิตรละประมาณ 30 สตางค์ ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดนับสิบเท่า หรือแม้แต่การควบคุมราคาขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้ขายกันในราคาถูก นโยบายเช่นนี้ แม้จะมีข้อดีที่ช่วยลดค่าครองชีพคนในประเทศ แต่ก็มีข้อเสียอย่างน้อย 2 ประการ

1. ธุรกิจเอกชนในประเทศจำนวนมากต้องล้มหายตายจากไป เนื่องจากรัฐบาลกำหนดราคาสินค้าหลายประเภทไว้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง ธุรกิจที่อยู่ไม่ไหวจึงต้องปิดกิจการลงและรัฐบาลก็ต้องหาสินค้ามาทดแทนผ่านการนำเข้า ส่งผลให้เวเนซุเอลาต้องพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้น

2. นโยบายเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลของนาซาเวซนำกำไรจากการขายน้ำมันให้ต่างชาติ มาใช้กับนโยบายทางสังคมเหล่านี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 2002-2014 ทำให้เวเนซุเอลาไม่มีปัญหาในการหารายได้ตรงนี้ แต่นับจากปี 2014 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก จากสูงกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นไม่ถึง 35 ดอลลาร์/บาร์เรล ในเวลาเพียงปีครึ่ง ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงนี้ ทำให้รายได้ของประเทศเวเนซุเอลาลดลงอย่างมากด้วย เนื่องจากรายได้จากการส่งออกกว่า 95% ของเวเนซุเอลามาจากการส่งออกน้ำมัน


(ที่มา https://www.macrotrends.net/1369/crude-oil-price-history-chart)

และแทนที่ นิโคลัส มาดูโร ซึ่งสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อจากซาเวซในปี 2013 จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้ารูปเข้ารอย เขากลับเลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางเดิมที่ซาเวซได้วางเอาไว้

และเมื่อประเทศไม่มีงบประมาณมากพอที่จะเอามาใช้จ่ายกับนโยบายเหล่านี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาก็แก้ปัญหาโดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อเอามาใช้จ่าย แต่การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มตามอำเภอใจโดยไม่มีอะไรหนุนหลัง ทำให้ธนบัตรแต่ละใบเริ่มไร้ค่า บวกกับการที่เวเนซุเอลาต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นหลายอย่าง แต่ตอนนี้กลับไม่มีเงินซื้อ ทำให้สินค้าในประเทศขาดแคลนและราคากู้พุ่งสูงขึ้นไปอีก

สองปัจจัยนี้ จึงทำให้ตอนนี้เกิดภาวะ เงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) ขึ้น เช่น กาแฟ 1 แก้ว ปีนี้ราคาพุ่งขึ้น 125 เท่าแล้ว (ในช่วงเวลาเพียง 8 เดือนของปีนี้) เทียบได้กับการที่กาแฟราคา 50 บาท ราคาพุ่งขึ้นเป็น 6,250 บาท

ล่าสุด ทางรัฐบาลของนายมาดูโร ได้พยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อนี้ ด้วยการออกเงินสกุลใหม่ ที่ชื่อ Sovereign Boliver โดยกำหนดให้ 1 Sovereign Bolivar เท่ากับ 100,000 โบลิวาร์ (สกุลเงินของเวเนซุเอลา) และอ้างว่าได้ผูกมูลค่าของเงินสกุลใหม่นี้ ไว้กับสกุลเงินคริปโต (cryptocurrency) ที่ชื่อ Petro ซึ่งผูกไว้กับมูลค่าของน้ำมันอีกที แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็มองว่า นี่เป็นเพียงมุกหลอกเด็กของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้จริง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจรากฐานยังไม่ถูกแก้

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาขณะนี้ ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ทั้งความยากจนที่พุ่งสูงขึ้น 90% ปัญหาขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น และปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัญหาผู้อพยพ ที่ว่ากันว่าตั้งแต่ปี 2014 มีชาวเวเนซุเอลาอพยพออกนอกประเทศแล้วกว่า 2.3 ล้านคน

ปัญหาเหล่านี้จะดำรงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่รากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ถูกแก้ไข