ทดลองติดตั้ง DRUPAL 8.2.3

ก่อนหน้านี้ ประมาณปี 2012 ได้ทำการทดลองติดตั้ง Drupal 8.x-dev ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของโครงการ Drupal 8 ผ่านมาเกือบ 4 ปี มาถึงตอนนี้ Drupal 8 ตัวสมบูรณ์พร้อมให้ดาวน์โหลดมาใช้งานแล้ว

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ในระหว่างที่ Drupal 8 พัฒนา จนตอนนี้พร้อมใช้งาน ไม่ได้ทำการทดลองอะไรอีกเลย เพราะความต้องการพื้นฐานของ Drupal 8 มันขยับขึ้นมามากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของตัวเซิร์ฟเวอร์ เวอร์ชั่นของ PHP (ขั้นต่ำ 5.5.9+) หรือฐานข้อมูล MySQL ฯลฯ ซึ่งสภาพแวดล้อม(โฮสติ้ง)ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หลายที่ยังไม่รองรับนั่นเอง

มาวันนี้ ได้ทำการขยับขยายโฮสติ้งในมือ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ประกอบด้วย PHP 5.5.9.1x, MySQL 5.5.53 เลยเป็นที่มาของ ความคิดทดลองติดตั้ง Drupal 8 อีกครั้ง

Drupal 8 Logo

ขั้นตอนการติดตั้ง Drupal 8 (สำหรับเวอร์ชั่นที่ใช้ทดสอบ คือ Drupal 8.2.3)

0. ดาวน์โหลดไฟล์ระบบจากเว็บ drupal.org นำมาวางในเซิร์ฟเวอร์

เลือกดาวน์โหลดไฟล์ Drupal 8 จากเว็บไซต์ drupal.org/project/drupal เลือกประเภทการบีบอัดไฟล์ในรูปแบบ .tar.gz หรือ .zip อะไรก็ได้ แล้วแต่ความชอบ-ความถนัด จากนั้นแตกไฟล์ออก แล้วนำข้อมูลทั้งหมดไปวางที่ root ของเว็บ (หรือในตำแหน่งโฟลเดอร์ ที่ต้องการใช้งานเว็บไซต์)

พร้อมกันนี้ ต้องเตรียมสร้างฐานข้อมูลให้พร้อม (ในที่นี้ใช้ MySQL) เพราะจะต้องนำข้อมูลชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่านฐานข้อมูล ไปใช้ในขั้นตอนต่อไป

1. เปิดเว็บเบราว์เซอร์ ชี้ไปที่ตำแหน่งที่วางไฟล์ระบบเอาไว้

ในการเปิดเว็บ หรือ path โฟลเดอร์ที่วางไฟล์เอาไว้ หากไม่เคยติดตั้งมาก่อน ระบบจะดึงข้อมูลการติดตั้ง (Install) ขึ้นมาแสดงผลในทันที ในขั้นแรกต้องเลือกภาษาที่จะใช้งาน ค่าเริ่มต้น คือ ภาษาอังกฤษ (English) ในตัวเลือกมีภาษาอื่นด้วย รวมถึง "ภาษาไทย" แต่อย่างไรก็ตาม ในการเลือกใช้ภาษาอื่นจะต้องดาวน์โหลดไฟล์เพิ่มเติม - ในการทดสอบครั้งนี้ จึงเลือกใช้เป็นภาษาอังกฤษต่อไป

2. เลือกโปรไฟล์การติดตั้ง

ในการติดตั้ง Drupal ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีให้เลือกโปรไฟล์ในการติดตั้ง (แพคเกจส่วนเสริมในการทำงาน) โดยปกติแล้ว Drupal จะมีให้เลือก 2 ตัวเลือก และใน Drupal 8 ก็เช่นกัน โดยมีตัวเลือก Standard (มาตรฐาน - ติดตั้ง Modules พื้นที่รวมถึง Modules อำนวยความสะดวกต่างๆ ) และ Minimal (ติดตั้งน้อยที่สุด - เฉพาะ Modules ที่จำเป็นในการสร้างเว็บ)

3. ระบุรายละเอียดของฐานข้อมูล

ในขั้นตอนนี้ จะต้องเลือกประเภทของฐานข้อมูลที่ใช้ (MySQL, MariaDB, Percona Server, or equivalent หรือเป็น SQLite) พร้อมทั้งระบุ ชื่อฐานข้อมูล, ชื่อผู้ใช้ รวมถึงรหัสผ่านฐานข้อมูล และในด้านล่าง เมนู Advanced Options สามารถกำหนด Host และ prifix (ตัวอักษรนำหน้า) ชื่อตารางข้อมูล - ในส่วนนี้เหมือนกับ Drupal เวอร์ชั่นก่อนๆ

4. ระบบดำเนินการติดตั้ง Modules (ตามที่เลือกโปรไฟล์ จากในข้อ 2 ข้างต้น)

ในขั้นตอนนี้ ระบบจะแสดงสถานะความคืบหน้าในการติดตั้ง Modules ต่างๆ สำหรับการเลือกโปลไฟล์ Standard (แบบมาตรฐาน) ระบบจะทำการติดตั้ง Modules ทั้งสิ้น 40 ตัวด้วยกัน

5. กำหนดข้อมูลพื้นฐานของเว็บไซต์

หลังจากระบบดำเนินการติดตั้ง Modules ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จะเข้ามาถึงหน้าเพจกำหนดข้อมูลพื้นฐานของเว็บไซต์ โดยในหน้านี้ Drupal 8 แทบไม่มีความแตกต่างไปจาก Drupal 7 จะต่างก็เพียงแค่ ความกระชับในหัวข้อ Default time zone ที่ใน Drupal 7 แสดงตัวเลข เวลา +/- ชั่วโมงเข้ามาด้วย ส่วนใน Drupal 8 จะแสดงเพียงเขตทวีปและเมืองเท่านั้น นอกนั้นเหมือน Drupal 7 ทุกประการ

6. เว็บไซต์ Drupal 8 พร้อมใช้งาน

เมื่อกำหนดข้อมูลพื้นฐานของเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ระบบจะพาไปยังหน้าแรกของเว็บ ที่ใช้ธีม Bartik 8.x เป็นค่าเริ่มต้น

จุดที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ Toolbar ด้านบน โดยในแถบแรก เมนู Manage, Shortcuts และ User (แสดงชื่อผู้ใช้งาน) ทั้งนี้สามารถเลือก แสดง หรือ ซ่อน แถบเมนู (พื้นหลังสีเทา) โดยการคลิกที่แต่ละเมนู

และในด้านขวามือ จะแสดงเมนู Edit สำหรับแก้ไข Block ต่างๆ ที่แสดงในหน้าเพจปัจจุบัน (แสดง Contextual Links ให้เห็นว่า Block ไหนสามารถแก้ไขได้บ้าง)

สำหรับ แถบที่สอง (พื้นหลังสีเทา) ในค่าเริ่มต้น จะแสดง 8 เมนู Administration (ข้อมูลเดียวกับ path /admin) ประกอบด้วย Content (เนื้อหาทั้งหมด), Structure (ส่วนประกอบของเว็บ), Appearance (รูปแบบสีสัน-ธีม), Extend (ส่วนขยาย = Modules), Configuration (การกำหนดค่าต่างๆ), People (ผู้ใช้), Reports (รายงานการใช้งาน-การอัพเดท) และ Help (คู่มือการใช้งาน)

ซึ่งในแถบที่สองนี้ ด้านขวามือจะมีสัญลักษณ์ การเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผล ของแถบ Toolbar จากที่แสดงที่ด้านบนสุดของเว็บ สามารถไปแสดงเป็นแถบเมนูด้านซ้ายมือ

เท่านี้ ก็จะได้เว็บไซต์ ที่รันบนระบบของ Drupal 8 พร้อมใช้งานทันที

เพิมเติม : หมวดหมู่ของ Modules (Extend) ใน Drupal 8

ในเบื้องต้น หลังจากติดตั้งระบบ Drupal 8 เรียบร้อยแล้ว ในหัวข้อ Extend (หรือ Modules ใน Drupal 7) จะมีการแบ่งหมวดหมู่ของ Modules ออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ Core (ระบบหลัก), Core (Experimental) (ระบบหลัก ที่อยู่ในช่วงทดสอบ), Field Types (ประเภทการเก็บข้อมูล), Multilingual (การแสดงผลหลายภาษา) และ Web Services (เว็บเซอร์วิส)

ในการสำรวจเบื้องต้น พบว่า Drupal 8 ได้ทำการควบรวม Modules ที่จำเป็นเข้ามาอยู่ใน Core (ระบบหลัก) เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ CKEditor (ตัวช่วยในการเขียนเนื้อหา) และ Views (เครื่องมันในการสร้างกล่องเนื้อหา-หน้าเพจ แสดงข้อมูล) โดย 2 ส่วนนี้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของ Drupal 8 ได้อย่างมาก

...

สำหรับตอนนี้ ขอจบการทดสอบ การติดตั้ง Drupal 8.2.3 ไว้เพียงเท่านี้ ส่วนการใช้งานอื่นๆ จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวขอทดลองใช้งาน แล้วจะมารีวิวกันอีกครั้งในตอนถัดไป