18 สิงหาคม 2559

[Location Articles] รีวิว รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ตลอดสาย 42 บาท กับการเชื่อมต่อที่(ยัง)ไม่สมบูรณ์

หลังจากที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง หรือ "รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม" เปิดให้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Location.in.th เลยถือโอกาส ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าเส้นใหม่ ที่เปิดให้บริการประชาชนชาวกรุงเทพและปริมณฑล โดยเฉพาะจากฝั่ง บางใหญ่-บางบังทอง-เมืองนนทบุรี เพื่อมาเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เข้าสู่ใจกลางเมือง มุ่งหน้าสู่ รัชดาภิเษก-เอกมัย-สีลม

ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRTA - Mass Rapid Transit Authority of Thailand ระยะเวลาบริหารงาน 30 ปี

โดย BEM มีหน้าที่จัดหาขบวนรถไฟฟ้า และระบบงานที่เกี่ยวข้อง มามอบให้กับ รฟม. ในฐานะเจ้าของโครงการ โดย รฟม. จะจ่ายค่ารถไฟฟ้าส่วนนี้คือในรูปบบของค่าจ้างเดินรถให้แก่ BEM

สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เริ่มต้นที่ สถานีคลองบางไผ่ และสิ้นสุดที่ สถานีเตาปูน รวมระยะทางทั้งสิ้น 46.6 กิโลเมตร 16 สถานี

  • คลองบางไผ่
  • ตลาดบางใหญ่
  • สามแยกบางใหญ่
  • บางพลู
  • บางรักใหญ่
  • ท่าอิฐ
  • ไทรม้า
  • สะพานพระนั่งเกล้า
  • แยกนนทบุรี 1
  • บางกระสอ
  • ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • แยกติวานนท์
  • วงศ์สว่าง
  • บางซ่อน
  • เตาปูน

อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่

การเข้าจอดรถที่อาคารจอดแล้วจร ผู้โดยสารจะได้รับบัตรจอดรถ อาคารจอดแล้วจร ซึ่งสามารถใช้เป็นบัตรในการเดินทาง รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้ทันที โดยบัตรจะบันทึกข้อมูลการเดินทาง และผู้โดยสารจะต้องชำระเงินคืน เมื่อมานำรถยนต์ออกจากอาคารจอดแล้วจร

จำนวนพื้นที่จอดรถในอาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่ สามารถรองรับรถยนต์ได้มากถึง 1,800 คัน

อัตราค่าจอดรถที่อาคารจอดแล้วจร คิดค่าบริการ 2 ชั่วโมง / 10 บาท (หากไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดค่าบริการ 1 ชั่วโมง / 20 บาท)

รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง

รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ใช้ระบบรถไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น โดย BEM ได้จ้างให้ บริษัท มารูเบนิ และ โตชิบา เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า โดยเป็นการสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 63 ตู้ (21 ขบวน) 3 ตู้/1 ขบวน และสามารถเพิ่มเป็น 6 ตู้/1ขบวนได้ในอนาคต มีความจุผู้โดยสารได้ประมาณ 320 คนต่อตู้

รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เปิดให้บริการทุกวัน โดยรถไฟฟ้าเที่ยวแรก ออกจากสถานีคลองบางไผ่ เวลา 05.30 น. (วันธรรมดา) และ รถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้าย จากสถานีเตาปูน ออกเวลา 22.40 น. (ประตูทางเข้าสถานีเตาปูน ปิดเวลา 22.30 น.)

ตารางการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง

ตารางการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง
* รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สถานีต้นทาง คลองบางไผ่ ขบวนแรก ออกเวลา ขบวนสุดท้าย ออกเวลา
จันทร์ - ศุกร์ 05.30 น. 22.00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 06.00 น. 22.00 น.
* รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สถานีต้นทาง เตาปูน ขบวนแรก ออกเวลา ขบวนสุดท้าย ออกเวลา
จันทร์ - ศุกร์ 06.00 น. 22.40 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 06.15 น. 22.40 น.

ราคา ค่าโดยสาร รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง

สำหรับอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้า MRT สวยสีม่วง คิดค่าโดยสาร เริ่มต้น 17 บาท จากนั้นคิดค่าโดยสาร สถานีละ 2-3 บาท รวมค่าโดยสาร ตั้งแต่ สถานีคลองบางไผ่ จนถึง สถานีกระทรวงสาธารณสุข - สถานีเตาปูน ค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท

อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง
สถานีต้นทาง คลองบางไผ่ /
ถึงสถานปลายทาง...
ค่าโดยสาร
คลองบางไผ่ (เข้ามาในระบบ แต่ไม่เดินทาง) 14 บาท
ตลาดบางใหญ่ 17 บาท
สามแยกบางใหญ่ 20 บาท
บางพลู 23 บาท
บางรักใหญ่ 25 บาท
ท่าอิฐ 27 บาท
ไทรม้า 30 บาท
สะพานพระนั่งเกล้า 33 บาท
แยกนนทบุรี 1 36 บาท
บางกระสอ 38 บาท
ศูนย์ราชการนนทบุรี 40 บาท
กระทรวงสาธารณสุข 42 บาท
แยกติวานนท์ 42 บาท
วงศ์สว่าง 42 บาท
บางซ่อน 42 บาท
เตาปูน 42 บาท

สัญญาฉบับที่ 5 รถไฟฟ้า สายสีม่วง รอยต่อ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ

จากการเปลี่ยนแปลง "แผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" เดิมที สถานีบางซื่อ-เตาปูน เป็นส่วนหนึ่งของ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-เตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า (สัญญาฉบับที่ 1) และ ช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-คลองบางไผ่ (สัญญาฉบับที่ 2)

ต่อมา "งานระบบรถไฟฟ้า" (สัญญาฉบับที่ 4) เส้นทาง เตาปูน-บางใหญ่ ได้กลายเป็นรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง

ในขณะที่เส้นทางช่วง บางซื่อ-เตาปูน "งานระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน" 1 กิโลเมตร (สัญญาฉบับที่ 5 เดิม) ถูกรวมไปอยู่ในงานระบบราง (สัญญาฉบับที่ 6) ซึ่งยังไม่มีผู้ให้บริการ

ส่วนสถานีบางซื่อ จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเดินรถไปสิ้นสุดท้ายสถานีบางใหญ่ ต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้าไปสถานีปลายทาง ท่าพระ โดยจะวิ่งทับเส้นทางปัญหา 1 สถานี ช่วงระหว่าง บางซื่อ-เตาปูน

รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง นั้นจะให้บริการตั้งแต่ สถานีคลองบางไผ่ และมาสิ้นสุดเพียงแค่ สถานีเตาปูน เท่านั้น

และในขณะที่ยังไม่มีผู้ที่ได้สิทธิในการบริหารงาน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) จึงไม่มีความชัดเจนว่า รอยต่อระหว่าง สถานีเตาปูน และสถานีบางซื่อ ใครจะเป็นผู้บริหารงาน

ที่ผ่านมา คณะกรรมการ รฟม. ได้เสนอแนวทางการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ตามมติของคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก BEM สามารถใช้ศูนย์ควบคุมการเดินรถร่วม โดยไม่ต้องก่อสร้างใหม่ ไม่ต้องลงทุนซื้อระบบใหม่ และลดค่าบริหารจัดการ

ทางด้าน BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เคยยื่นข้อเสนอว่า BEM สามารถเปิดให้บริการได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่มติ ครม. ต้องการให้ BEM ดำเนินการไปจนถึงปี 2572 (ครบตามอายุสัญญาการให้บริการ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ทำให้ BEM ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่คุ้มค่าในการดำเนินงาน และมีผลต่อการจัดซื่อรถไฟฟ้า โดยล่าสุดก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ไม่สามารถพิจารณาการเดินรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ในส่วนต่อขยาย เนื่องจากการเจรจาการเดินรถ 1 สถานีดังกล่าวยังไม่ยุติ และกรณีที่ BEM ไม่รับเงื่อนไขการเดินรถ 1 สถานี ไปจนถึงปี 2572 อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของ 1 สถานี ช่วงบางซื่อ-เตาปูน (รถไฟฟ้า สายสีม่วง สัญญาฉบับที่ 6) ให้ไปรวมกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย โดย ครม. จะต้องยกเลิกมติ ครม. ที่ให้เดินรถถึงปี 2572 ด้วย ซึ่งจะทำให้ คณะกรรมการ PPP สามารถพิจารณาในส่วนของการเดินรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ต่อไปได้

การเชื่อมต่อระบบ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในการเชื่อมต่อผู้โดยสารระหว่าง รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เตรียม รถโดยสารปรับอากาศ วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ระหว่างสถานี เตาปูน-บางซื่อ-เตาปูน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 24.00 น. ในความถี่การให้บริการ 6-8 นาที/คัน

รวมถึงการให้บริการ รถไฟ เชื่อมระหว่างสถานี บางซ่อน-บางซื่อ-บางซ่อน ในช่วงเวลาเร่งด่วน 06.30 - 09.30 น. และ  16.30 น. - 20.30 น. รถไฟออกทุก 15 นาที/ขบวน โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 นาที

ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (MRTA) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2535 ในชื่อ องค์การรถไฟฟ้ามหานคร และได้เปลี่ยนชื่อในวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ในปีเดียวกัน

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) กับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ดังนี้ 

  1. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 27.47
  2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถือหุ้น 8.22%
  3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 6.85%
  4. UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED - Client Account ถือหุ้น 4.93%
  5. บริษัท ไฮกรีดโปรดักส์ แอดน์ เทคโนโลยี จำกัด ถือหุ้น 4.03%