เพื่อนที่ออฟฟิศถามว่าเชียร์ฟุตบอลอังกฤษทีมไหน?
คำถามง่ายๆ แต่อธิบายยากในเวลาปัจจุบัน.
แล้วฟุตบอลไทยล่ะ เชียร์ทีมไหน?
คำถามนี้ ก็ตอบยาก สรุปตอนนี้เชียร์ทีมไหนกันแน่.
ซันเดอร์แลนด์ เอเอฟซี 1999-2000
เรื่องนี้อาจต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้น ฤดูกาล 1999-2000 ปีที่สโมสรฟุตบอลซันเดอร์แลนด์ คว้าแชมป์ลีก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 1998-1999 เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของอังกฤษ พรีเมียร์ลีก ได้สำเร็จ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นตกชั้นไปเล่นในลีกรองอยู่ 2 ฤดูกาล ในปีนั้น เพื่อนก็เชียร์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล หรือ เชลซี
แต่ไม่รู้ทำไม เรากลับเลือกที่จะจิ้มไปที่ ซันเดอร์แลนด์ ทีมน้องใหม่ แชมป์ดิวิชั่น 1 มาเป็นทีมเชียร์ และคุยแลกเปลี่ยนผลการแข่งขันกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยในช่วงนี้
ในฤดูกาล 1999-2000 จำได้คุ้นๆ ว่าเป็นปีที่เชียร์ ซันเดอร์แลนด์ สนุกมาก ทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 7 และกองหน้าของสโมสร เควิน ฟิลลิปส์ ก็ยิงระเบิดเถิดเทิง 30 ประตู จนคว้ารางวัล รองเท้าทองคำ
แต่หลังจากนั้น ผลงานของทีมก็ไม่คงเส้นคงว่า ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างพรีเมียร์ลีก และ ดิวิชั่น 1 (ในขณะนั้น) อยู่หลายฤดูกาล จนมาถึงฤดูกาลปัจจุบัน จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ตกชั้นจาก ลีกแชมเปี้ยนชิพ 2017-2018 มาแข่งขั้นใน ลีกวัน 2018-2019 (EFL League One - เป็นลีกลำดับที่ 3 ต่อจาก พรีเมียร์ลีก, ลีกแชมเปี้ยนชิพ)
ในช่วงที่ติดตามข่าวการแข่งขัน ของสโมสร ซันเดอร์แลนด์ อย่างใกล้ชิด ก็ได้พัฒนาไปเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเวอร์ชั่นภาษาไทย ด้วยการลองทำเว็บไซต์ SunderlandThail.com ขึ้นมา เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เป็นการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร ตารางการแข่งขัน
และจากการที่ทำเว็บไซต์ SunderlandThai.com ดังกล่าว ทำให้พบว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ตามเชียร์ทีมเล็กๆ ทีมนี้อยู่อีกหลายคน เรียกว่าเป็นคอเดียวกัน
ปัจจุบัน เว็บไซต์ SunderlandThai.com ปิดไปแล้ว.
กลับไปที่คำถามแรก แล้วปัจจุบันเชียร์ฟุตบอลอังกฤษทีมไหน? คำตอบคือ ไม่ได้ติดตามใกล้ชิด ไม่ได้เชียร์ทีมไหนเลย.
บางกอก บราโว่ เอฟซี 2008
ข้ามฝากกลับมาที่ประเทศไทย ไอเดียมันเริ่มมาจากว่า ถ้าจะเริ่มเชียร์ทีมฟุตบอลสักทีม มันควรจะเป็นทีมท้องถิ่น ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ (Local-base)
ฤดูกาลปี 2008 เริ่มสนใจ เชียร์ทีมฟุตบอลกรุงเทพมหานคร โดยในฤดูกาลนั้น ใช้ชื่อทีมว่า "บางกอก บราโว่ เอฟซี" ใช้สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด เป็นสนามเหย้า แข่งขันในระดับ ดิวิชั่น 2 ในขณะนั้น
อย่าถามเลยว่าเดินทางลำบากมั้ย นี่ขนาดว่าบ้านอยู่จรัญสนิทวงศ์-ปิ่นเกล้า แต่สนามฟุตบอลอยู่บางมด ทุ่งครุ ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 1 ชั่วโมง 30 นาที
และจากที่ตามเชียร์ บางกอก บราโว่ เอฟซี อยู่ราวๆ ปีกว่า ก็ทำให้ได้รู้จักเพื่อนๆ แฟนบอล ที่เชียร์ทีมอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร แฟนพันธุ์แท้ก็จะตามเชียร์อยู่ตลอด
จนได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับแกนนำทีมเชียร์ บางกอก บราโว่ เอฟซี ซึ่งมีไอเดียอยากจัดทำเว็บไซต์สโมสร แต่ด้วยการทำงานแบบอาสาสมัคร และด้วยผลงานอันย่ำแย่ของทีม ฤดูกาล 2008 บางกอก บราโว่ เอฟซี จบอันดับสุดท้ายของตารางคะแนน ตกชั้นไปสู่ โปรลีก
ต่อมาในปี 2009 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในขณะนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการแข่งขัน ดิวิชั่น 2 ใหม่ โดยเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบการแข่งขันแบบลีกภูมิภาค แบ่งโซนการแข่งขัน
สรุปว่า ในฤดูกาล 2009 สโมสรฟุตบอล บางกอก บราโว่ เอฟซี ยังคงแข่งขันในระดับ ลีกดิวิชั่น 2 ต่อไป โดยทำผลงานได้อันดับที่ 6 จากทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม
และต่อมาในปี 2010 ทีมสโมสรฟุตบอลกรุงเทพมหานคร ได้เปลียนชื่อในการแข่งขัน จากทีม บางกอก บราโว่ เอฟซี เป็น บางกอก เอฟซี ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด ฤดูกาล 2019 สโมสรฟุตบอล บางกอก เอฟซี ยังคงเข้าร่วมการแข่งขันในระดับ ไทยลีก 3 โซนบนของประเทศ.
กลับไปที่คำถามที่สอง ปัจจุบันนี้เชียร์ฟุตบอลไทยทีมไหน? คำตอบคือ ไม่ได้เชียร์ทีมใดทีมหนึ่งแล้ว แต่การดูฟุตบอลไทย เป็นการดูแบบภาพรวม ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว ผลการแข่งขัน ตกชั้น-เลื่อนชั้น อัพเดทข้อมูลตลอด
สรุปว่า ฟุตบอลไทย เราเชียร์ทุกทีม เชียงราย, สุโขทัย, ชัยนาท, นครราชสีมา, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, สมุทรสงคราม, พัทยา, ชลบุรี, บางกอกกล๊าส, เมืองทอง, แบงค็อก, แอร์ฟอร์ซ, อาร์มี่ ทีมเหล่านี้ เคยไปเหยียบสนามเหย้ามาหมดแล้ว
ปล. ในช่วงหนึ่ง ได้มีโอกาสไปทำเว็บไซต์ให้กับสโมสรฟุตบอล สมุทรสงคราม เอฟซี ฤดูกาล 2014-2015 และ 2017