จะซื้อมือถือ Smartphone เครื่องใหม่ เลือกดูจากปัจจัยอะไรบ้าง

ทุกวันนี้มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใช้งานเพื่อใช้ติดต่อระหว่างบุคคล การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อความบันเทิง

ในการเลือกซื้อมือถือ Smartphone สักเครื่อง อาจจะแบ่งปัจจัยในการเลือกได้เป็น 6 หัวข้อย่อย ได้ดังนี้

  • ระบบปฎิบัติการ
  • กล้อง
  • หน้าจอ
  • ความอัพเดท และการอัพเกรด
  • เครือข่าย-คลื่นความถี่
  • ความคุ้มค่า

 

ระบบปฎิบัติการ

โดยทั่วไปการจะซื้อมือถือ ในอดีตเราเลือกซื้อมือถือจากยี่ห้อผู้ผลิตตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องสนใจว่าระบบปฏิบัติการภายในเป็นอย่างไร ตัวอย่างมือถือในอดีต เช่น Nokia 3310 ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก โดยผู้ใช้ไม่ได้สนใจว่าระบบปฏิบัติการภายในจะเป็นเช่นไร หรือต่อมา Nokia 5510 ผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าระบบปฏิบัติการข้างในจะเป็นอะไรเช่นกัน รู้แต่เพียงว่าเป็นระบบปฏิบัติการฝังตัวของโนเกีย และมีคุณสมบัติเด่นที่เป็นจุดขายเท่านั้น

แต่ในปัจจุบันเมื่อมือถือแบบ Smartphone เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่มือถือจากค่ายคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ล iPhone เริ่มวางขายในปี 2007 ส่วนแบ่งของตลาดมือถือก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้มือถือเพียงแค่โทรออก-รับสาย พัฒนามาเป็นการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เนต การถ่ายรูป การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์กับมือถือ โดยก่อนหน้านั้นอาจจะมี Windows Mobile หรือ Palm ที่เริ่มทำตลาด Smartphone บ้างแล้วแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

สำหรับตลาดมือถือขณะนี้ ระบบปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในลำดับต้นๆ ได้แก่ iOS, Android, Windows Phone, BlackBerry หรือระบบปฏิบัติการอื่น ที่กำลังเร่งผลิตมือถือออกมาเช่น Tizen, Aliyan OS, Firefox OS หรือ Ubuntu Phone เป็นต้น

กล้อง

สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างในการเลือกซื้อมือถือ คือ กล้องถ่ายรูป จากอดีตถึงปัจจุบัน กล้องถ่ายรูปในมือถือได้พัฒนามากขึ้นมาเป็นลำดับ มือถือขนาดกลาง เช่น Samsung Galaxy S III mini หรือ Sony Xperia U มีความละเอียดกล้องอยู่ที่ 5 ล้านพิกเซล หรือถ้าเป็นมือถือ high-end เช่น Sony Xperia Z ความละเอียดจอยู่ที่ 13.1 ล้านพิกเซล

นอกจากกล้องหลักที่มีความละเอียดสูง ยังต้องคำนึงถึงกล้องด้านหน้า ที่สามารถรองรับการใช้งาน video call เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน Apple iPhone 5 มีความละเอียดกล้องด้านหน้าอยู่ที่ 1.2 ล้านพิกเซล หรือ HTC One กล้องด้านหน้าละเอียดที่ 2.1 ล้านพิกเซล เป็นต้น

หน้าจอ

จอภาพในมือถือแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ส่วนย่อยได้แก่ ความกว้าง ความละเอียด แล้วเทคโนโลยีจอภาพ

ความกว้าง สำหรับมือถือระดับกลางขนาดหน้าจอเริ่มตั้งแต่ 3-4 นิ้วขึ้นไป โดยความกว้างที่ว่าเป็นการวัดระยะ จากมุมซ้ายบนไปถึงมุมขวาด้านล่างตามแนวทะแยงมุมของหน้าจอ เช่น Samsung Galaxy S III ขนาดกว้าง 4.3 นิ้ว เป็นต้น

ความละเอียด แม้ว่าความกว้างหน้าจออาจจะใกล้เคียงกัน โดยมือถือหลายรุ่น-หลายยี่ห้อจะมี ความละเอียดของเม็ดสีพิกเซลที่แตกต่างกัน เช่น HTC One ที่มีความละเอียดสูงถึง 1920x1080 พิกเซล ในระดับ Full-HD เลยทีเดียว

เทคโนโลยีจอภาพ ในอดีตมือถือโดยส่วนใหญ่ใช้จอภาพแบบ LCD และได้พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องเทคโนโลยีการแสดงผล เช่น AMOLED, Super AMOLED, TFT, Super LCD3, True HD IPS หรือ Retina Display รวมทั้งเทคโนโลยีความแข็งแรงทนทาน เช่น Gorilla Glass เป็นต้น

ความอัพเดท และการอัพเกรด

เมื่อตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อเป็นสิ่งแรก คือ ระบบปฏิบัติการ สิ่งสำคัญต่อมาคืออนาคตในระบบปฏิบัติการกับมือถือที่เราเลือกซื้อ ถ้าบอกแบบตรงไปตรงมาที่สุด ก็ควรซื้อมือถือที่ทันสมัยที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ และติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของระบบปฎิบัติการควบคู่ไปด้วย

รุ่นของระบบปฎิบัติการก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ เช่น มือถือระดับล่าง เช่น Samsung Galaxy Pocket ใช้ระบบปฎิบัติการ Android 2.3 หรือมือถือระดับกลางอย่าง Samsung Galaxy S Duos ใช้ Android 4.0 และมือถือ high-end จากกูเกิ้ลอย่าง LG Nexus 4 ใช้ Android 4.2 เป็นต้น

นอกจาก Android จะมีหลายรุ่น ยังมีอีกระบบปฎิบัติการที่มีปัญหาการแยกรุ่น เช่น Windows Phone จาก Microsoft โดยมีทั้งรุ่นดั้งเดิม Windows Phone 7.5 หรือ 7.8 ที่อัพเกรดไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมือถือระดับกลาง เช่น Nokia Lumia 900 ที่ใช้ระบบปฎิบัติกร Windows Phone 7.5 ส่วนมือถือระดับกลาง-สูง เช่น Nokia Lumia 920 จะใช้ Windows Phone 8 เป็นต้น

ระบบปฎิบัติการอื่นที่เข้าข่ายการมีรุ่นย่อยหลายรุ่น เช่น BlackBerry OS 6, 7, 10 หรือ Apple iOS 4, 5, 6 เป็นต้น

เครือข่าย-คลื่นความถี่

มีหลายครั้งที่มือถือที่เราคิดว่าใช่ แต่ดันไม่รองรับเครือข่าย-คลื่นความถี่ที่เราใช้งาน โดยปกติความถี่ในปัจจุบันจะแยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือคลื่นความถี่สำหรับระบบ 2G ได้แก่ GSM 850/900/1800/1900 และคลื่นความถี่สำหรับ HSDPA/3G ได้แก่ 850/900/1200 เป็นต้น

ในประเทศไทย ณ วันที่ยังไม่มี 3G 2100 เต็มรูปแบบ การเลือกซื้อมือถือที่รองรับ HSDPA/3G จะต้องเลือกให้ตรงกับเครือข่ายที่เราใช้ เช่นถ้าเราใช้เครือข่าย AIS ต้องเลือกมือถือที่รองรับ HSDPA/3G ที่รองรับคลื่นความถี่ 900/2100 หรือเครือข่าย DTAC ก็จะเป็น 850/2100 เป็นต้น

ทั้งนี้แม้ว่าการเลือกใช้มือถือที่ไม่รองรับคลื่นความถี่ HSDPA/3G ที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ยังคงใช้งานอื่นๆ ได้ตามปกติ แต่ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เนตจะได้ความเร็วเท่ากับ GSM EDGE นั่นเอง

ความคุ้มค่า

ส่วนสุดท้ายที่คิดว่าเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อมือถือ คือความคุ้มค่าในการใช้งานกับเม็ดเงินที่ต้องจ่าย เพราะมือถือในท้องตลาดถ้ารวมทุกยี่ห้อ มีตั้งแต่ราคาเริ่มต้น 3 พันบาท ไปจนถึงระดับ high-end ราคาทะลุ 2 หมื่นไปจนถึง 3 หมื่นกันเลยทีเดียว

ทั้งนี่ความคุ้มค่าของแต่ละคนอาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ บางคนต้องการใช้มือถือเพื่อใช้งานโทรออก-รับสาย บันทึกตารางงานและแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงาน ใช้สนทนาผ่านเครือข่ายสังคม Social Media เปิดดูเว็บไซต์ หาข้อมูล เล่นเกม ความบันเทิง ดูคลิปวิดีโอ ฟังเพลง ซึ่งความต้องการเหล่านี้อาจจะต้องวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า เรานั้นต้องการมือถือไว้สำหรับทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อมือถือนั่นเอง