รวมคำศัพท์น่าสนใจที่อาจพบบ่อยในข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
ปาตานี
ปาตานี หรือ อาณาจักรปาตานี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วนในปัจจุบัน อาณาจักรปาตานีถือกำเนิดขึ้นก่อนอาณาจักรสยาม 500 ปี
บีอาร์เอ็น (BRN)
บีอาร์เอ็น (BRN) ย่อมาจากภาษามลายู คำว่า "Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani" หรือคำแปลเป็นภาษาไทย "แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี"
มาราปาตานี (MARA Patani)
มาราปาตานี ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majis Syura Patani) เป็นชื่อขององค์กรร่วม ที่ก่อตั้งขึ้นโดย บีอาร์เอ็น เพื่อเจรจากับรัฐไทย ร่วมด้วย แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP), องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-P4), องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp), องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) และ ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP)
กฎอัยการศึก
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ศอ.บต.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นองค์กรพิเศษที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
กอ.รมน.
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลาง เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยตำแหน่ง
คยส.
คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี (คยส.) จัดตั้งขึ้นตามคำเสนอของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2544 ลงวันที่ 18 เมษายน 2544
กองทัพภาคที่ 4
กองทัพภาคที่ 4 ของกองทัพบกไทย รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ตั้งกองบัญชาการที่ค่ายวชิราวุธ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีศูนย์บัญชาการส่วนหน้าอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อดูแลความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยโดยเฉพาะ
ข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการของ BRN (26 เมษายน 2556)
- นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator)
- การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปาตานี ที่นำโดย บี.อาร์.เอ็น. กับนักล่าอานานิคมสยาม
- ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO
- นักล่าอานานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข
- นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร บี.อาร์.เอ็น. เป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ DeepSouthWatch และ คลิปวิดีโอข้อเรียกร้องในเว็บไซต์ YouTube
เปอร์มัส (PerMAS)
จุดเริ่มของ PerMAS มาจาก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาของแต่ละจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันแต่ละองค์กรยุบไปหมดแล้ว เหลือเพียง สนน.จชต. และต่อมากลายเป็น "สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียน และเยาวชนปาตานี"
PerMAS เป็นคำย่อภาษามลายู ของคำว่า Persukutuan Mahasiswa Anak Muda dan Siswa PATANI (ภาษาอังกฤษ: The Federation of Patani Students and Youth)
ออโตโนมี (Autonomy)
ออโตโนมี มาจากภาษาอังกฤษ Autonomy มีความหมายว่า ความอิสระ, ปกครองตนเอง, สิทธิในการปกครองตนเอง
แหล่งข้อมูล: Wikipedia, BenarNews, DeepSouthWatch, สำนักข่าวอิศรา, ประชาไท