ผมซื้อบัตรทางด่วน Easy Pass รุ่นปี 2013 ที่ "ด่านดาวคะนอง" ซึ่งในช่วงแรกใช้งานได้ดีตลอดไม่มีปัญหา แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ก็หยุดใช้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวหลายอย่าง ทั้งจากที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการทางด่วน, ขี้เกียจเติมเงินจำนวนมากทิ้งไว้ (ขั้นต่ำ 500 บาท) รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมในการเติมเงินออนไลน์
ในช่วงระหว่างที่ไม่ได้ใช้งาน ก็ได้สอบถามข้อมูลผ่านทาง Call Center ว่าถ้าไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน จะมีผลเสียหรือไม่อย่างไร เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า จำนวนเงินคงเหลือในบัตร หากไม่ทำการเติมเงินเป็นเวลา 2 ปี หมายเลข Easy Pass จะถูกยกเลิก
จนผ่านมาล่าสุด ในการจัดการกระเป๋าเงิน (ยกเลิกบัตร ATM กรุงไทย, เปิดบัญชีไทยพาณิชย์ กดเงินไม่ใช้บัตร) ก็เลือกจะกลับมาใช้งานบัตร Easy Pass อีกครั้ง เพราะเวลาผ่านด่านเก็บเงิน จะได้ไม่ต้องพกเงินสด -- ปัจจุบัน ใช้บริการทางด่วนเกือบทุกวัน โดยเส้นทางหลักคือ ทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
การเติมเงินเข้าไปในบัตร Easy Pass ทำได้สะดวกมากขึ้น ปัจจุบันในแอพของหลายธนาคารและร้านค้าชื่อดัง ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเติมเงินแล้ว
Easy Pass แบตหมด ต้องทำอย่างไร?
ในวันแรกที่ตัดสินใจเติมเงินเข้าบัตร Easy Pass อีกครั้ง มีเงินคงเหลือในบัตร 10 บาท และต้องเติมอย่างน้อย 500 บาท (สะสมในบัตรได้สูงสุด 5,000 บาท) หลังจากดำเนินการก็มีเงินในบัตร 510 บาท
ผมเติมเงิน Easy Pass ในช่วงกลางวันของวันศุกร์ แล้วนำไปใช้งานในตอนเย็น เพื่อการเดินทางกลับบ้าน โดยขึ้นทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ที่ด่านจตุจักร (ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ กำแพงเพชร 2) ปรากฎว่าระบบแสดงข้อความ "ไม่พบบัตร" หลังจากที่ "ไม่พบบัตร" ก็มีเจ้าหน้าที่มาขอตัว Easy Pass ไปสแกนบาร์โค้ดเพื่อหักเงินจากระบบและเปิดไม้กั้น ให้ผ่านเข้าในระบบทางด่วน โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าแบตเตอรี่ของตัว Easy Pass น่าจะหมดแล้ว ให้ไปติดต่อเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ "ด่านประชาชื่น"
ด้วยความที่ข้อมูลเบื้องต้นไม่ชัดเจน พอกลับถึงบ้านก็ส่งข้อความ Facebook Messenger ไปหาเพจ Easy Pass เพื่อสอบถามว่า สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ไหนได้บ้างนอกจากด่านประชาชื่น
ในอดีต Easy Pass ซื้อที่ไหน เปลี่ยนที่นั่น (ยกเว้นทางพิเศษศรีรัช)
เช้าวันจันทร์ ผมขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 7 (ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ บางกรวย) ระบบแสดงข้อความ "ไม่พบบัตร" อีกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มาช่วยดำเนินการสแกนบาร์โค้ดที่อุปกรณ์ Easy Pass และเปิดไม้กั้น ให้เข้าระบบทางด่วน
จนถึงช่วงสายๆ เจ้าหน้าที่ประจำเพจ Easy Pass ก็ตอบข้อความกลับมา พร้อมขอทราบหมายเลข Serial Number (S/N) ที่ใช้เติมเงิน ที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ Easy Pass
เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าบัตร Easy Pass ชุดนี้ ผมได้ทำการซื้อมาจาก "ด่านดาวคะนอง" (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร)
เจ้าหน้าที่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้การที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์ Easy Pass จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ด่านเก็บเงิน ในเส้นทางด่วนที่ซื้ออุปกรณ์มาเท่านั้น เช่นผมซื้อที่ "ด่านดาวคะนอง" ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ก็จะต้องไปที่ด่านเก็บเงินของทางพิเศษเฉลิมมหานคร เท่านั้น
แต่ปัจจุบัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มีนโยบายรวมการให้บริการ Easy Pass ของ 4 ทางด่วนเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ลูกค้าซื้ออุปกรณ์ที่ทางด่วนไหน ก็สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ข้ามเส้นทางได้ แต่จะยกเว้นเฉพาะ ทางพิเศษศรีรัช เท่านั้น ที่แยกการดำเนินการออกไป
ทางด่วนที่สามารถให้บริการ Easy Pass ร่วมกัน ได้แก่
- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร
- ทางพิเศษฉลองรัช
- ทางพิเศษบูรพาวิถี
- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าซื้ออุปกรณ์ Easy Pass มาจากทางด่วนเส้นไหน ที่สติ๊กเกอร์ที่ติดกับอุปกรณ์ Easy Pass
สรุป ถ้าซื้อบัตร Easy Pass ที่ทางด่วน เฉลิมมหานคร/ฉลองรัช, บูรพาวิถึ และ กาญจนาภิเษก สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ด่านไหนก็ได้ในทางด่วนเหล่านี้ แต่ถ้าซื้อบัตร Easy Pass ที่ทางด่วน ศรีรัช จำเป็นต้องเปลี่ยนที่ด่านของทางด่วน ศรีรัช เท่านั้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
สำหรับทางด่วน ทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ให้บริการโดย BEM (Bangkok Expressway and Metro - ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด) ไม่มีการจำหน่ายบัตร Easy Pass แต่สามารถใช้บัตรผ่านด่านเก็บเงิน และเติมเงิน เท่านั้น
ทางด่วนแต่ละเส้น เริ่มต้นที่ไหน และชื่ออะไรบ้าง ?
1. แผนที่ทางด่วน ทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือ ทางด่วนขั้นที่ 1
ทางด่วน ทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือ ทางด่วนขั้นที่ 1 ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ และ ดาวคะนอง-ท่าเรือ
2. แผนที่ทางด่วน ทางพิเศษฉลองรัช
ทางด่วน ทางพิเศษฉลองรัช ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ รามอินทรา-วงแหวนรอบนอก และ รามอินทรา-อาจณรงค์
3. ทางด่วน ทางพิเศษบูรพาวิถี บางนา-ชลบุรี
ทางด่วน ทางพิเศษบูรพาวิถี เริ่มต้นจากบางนา ไปจนถึงจังหวัดชลบุรี
4. แผนที่ทางด่วน ทางพิเศษกาญจนาภิเษก
ทางด่วน ทางพิเศษกาญจนาภิเษก ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก แะล ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งใต้ ส่วน ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก ไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง
5. แผนที่ทางด่วน ทางพิเศษศรีรัช หรือ ทางด่วนขั้นที่ 2
ทางด่วน ทางพิเศษศรีรัช หรือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ สามเสน-พระราม 9, พระราม 9-ศรีนครินทร์, สามเสน-บางโคล่ และ สามเสน-แจ้งวัฒนะ