ระบอบประชาธิปไตย มาจากที่ว่าประชาชนทุกคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีพันล้าน นักวิชาการ พนักงานรับเงินเดือน ลูกจ้างรายวัน นักศึกษา แม่บ้าน ชาวนา ชาวไร่ ก็มีสิทธิ-มีเสียงเท่ากัน หนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยให้อำนาจผ่านระบบตัวแทนเพื่อใช้สิทธิในการบริหารประเทศ
ประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใช้ระบอบประชาธิปไตย (ทางอ้อม) คือประชาชนใช้อำนาจผ่านตัวแทนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และผู้แทนราษฎรจะมีวาระการทำงาน (ปัจจุบัน มีวาระ 4 ปี) เมื่อครบวาระต้องคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่
สำหรับผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 101 วงเล็บ (3) กำหนดเอาไว้ว่าจะต้อง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชน สามารถเสมอชื่อนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องมีเสียงอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดรองรับ และจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ตาม รธน. 2550 มาตรา 172 โดยนายกรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 2 วาระ
จากนั้นเมื่อได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีแล้ว ฝั่งที่ได้เสียงข้างน้อยก็ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลต่อไป
หมายเหตุ: การตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล สามารถทำได้หลายทาง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การถอดถอนผู้ได้รับการเลือกตั้ง การดำเนินคดีผ่าน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
ไอเดียเขียนบล็อกนี้ เริ่มต้นมาจาก: Soraj Hongladarom (facebook)
ข้อมูลเพิ่มเติม: ประชาธิปไตย (wikipedia)