เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจการทำงานของ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง ในส่วนที่ไม่ได้เป็นคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ก็จะมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออก(หรือแก้ไข)กฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการบริหารประเทศ
ก่อนจะย้อนไปถึงการทำงานของรัฐสภา ขออธิบายก่อนว่า การคิดคะแนนสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 มีที่มา มาจากไหน?
การเลือกตั้ง 2562 บัตรใบเดียว!
ในการเลือกตั้ง 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ โดยใช้เลือกตั้ง ส.ส. เขต และนำคะแนนของพรรคการเมืองจากทั่วประเทศ มาหารด้วย 500 เพื่อกำหนดจำนวน ส.ส. พึงมี
หากพรรคการเมืองใดมี ส.ส. เขต น้อยกว่า ส.ส. พึงมี พรรคนั้นจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพิ่มจนครบจำนวน ส.ส. พึงมี
แต่หากพรรคใด ได้ ส.ส. เขต มากกว่าหรือเท่ากับ ส.ส. พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่ม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทย ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อจากการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะมี ส.ส. เขต มากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
ต่อมาหลังการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองประสานเสียงไปในทางเดียวกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จนแล้วจนรอด การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่า ทำได้เพียงแค่ แก้ไขจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แยกคะแนนกัน
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไข เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ต้องมีการออกกฎหมายลูก เพื่อใช้ประกอบในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
คราวนี้ผู้ที่เสนอร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยกระบวนการเลือกตั้ง (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) ตั้งต้นมาจาก คณะรัฐมนตรี ที่เสนอไว้ว่าให้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น 400 เขตเลือกตั้ง (ส.ส. เขต 400 คน) และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมจะมี ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 500 คน
(การเลือกตั้ง 2562 มี ส.ส. เขต 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน)
ซึ่งกฎหมายการเลือกตั้ง ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ว่า คะแนนจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั่วประเทศ จะนำมาหาร 100 เพื่อหาสัดส่วนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค ซึ่งก็เป็นการคำนวณแบบตรงไปตรงมา
ข้อเสนอแก้ไขเปลี่ยน สูตรหาร 100 เป็น หาร 500 กลับไปใช้ระบบ ส.ส. พึงมี
แต่ในระหว่างวาระการพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ก็มีคนเสนอให้แก้ไข วิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จาก หาร 100 เพื่อหาสัดสวนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้เป็น หาร 500 เพื่อหาจำนวน ส.ส. พึงมี เหมือนกับการเลือกตั้ง 2562 ต่างกันแต่เพียงว่าคราวนี้ จะเป็นการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ (ถ้าพรรคไหน ส.ส. เขต มากกว่า ส.ส. พึงมี ก็จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
ซึ่งก็อาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนการเลือกตั้ง 2562 ที่พรรคเพื่อไทย จะไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว
ส.ส. จำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับระบบหาร 500
กลับมาที่เรื่อง สภาล่ม ทำไมฝ่ายค้าน(พรรคเพื่อไทย) และฝ่ายรัฐบาล(พรรคพลังประชารัฐ) ถึงปล่อยให้เกิดสภาล่ม เนื่องจากจำนวน ส.ส. ที่แสดงตนในที่ประชุมไม่เพียงพอกับการลงมติใดๆ
ว่ากันด้วยเรื่องกฎหมายประกอบการเลือกตั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ที่ในระหว่างทางมีการเสนอแก้ไข สูตรคำนวณ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ จาก หาร 100 เป็น หาร 500 ในกระบวนการแก้ไขวาระนี้ หากไม่สามารถหาข้อยุติ(เห็นชอบ)ได้ภายใน 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นอันตกไป โดยจะกลับไปใช้สูตรคำนวณ หาร 100 เหมือนที่ คณะรัฐมนตรี เสนอไว้ในร่างแรก
แต่ถ้าหากรัฐสภา มีการลงมติ ไม่เห็นชอบ กับหลักเกณฑ์ หาร 500 ที่มีการเสนอแก้ไข จะกลายเป็นว่า รัฐสภาไม่เห็นชอบกับ ร่างกฎหมายประกอบการเลือกตั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทั้งฉบับ จะทำให้เกิดสถานการณ์ไม่มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งใดๆ อีกเลย
สภาล่ม เป็นเกมการเมืองหรือไม่?
โดยปกติแล้ว การผลักดันกฎหมาย หรือออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล สามารถประสานความร่วมมือกันได้ คณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเสนอร่างกฎหมาย ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากเห็นชอบ กฎหมายนั้นก็จะสามารถนำมาประกาศใช้
และในกระบวนการเดียวกัน เครื่องมือที่ ส.ส. ฝ่ายค้านมี คือ การนับจำนวนองค์ประชุม ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ หากองค์ประชุมไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะไม่สามารถพิจารณากฎหมายใดๆ นั่นคือ หากฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับญัตติใดๆ สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การไม่เข้าร่วมการพิจารณาดังกล่าว ทำให้การพิจารณาไม่เกิดขึ้น
และในกรณี สูตรหาร 500 พรรคฝ่ายค้าน ก็ใช้กระบวนการไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามกำหนดเวลา 180 วัน ซึ่งทำให้ข้อเสนอดังกล่าวตกไปโดยอัตโนมัติ
.
ที่มาภาพประกอบ และรายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.tpchannel.org/radio/newsdetail.php?news_id=12365