2 ธันวาคม 2556

ว่าด้วยเรื่องอำนาจ และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.

อำนาจอธิปไตย

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ขยายความ : อำนาจอธิปไตย

  • อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ดังนั้น สิ่งอื่นใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าหรือขัดต่ออำนาจอธิปไตยหาได้ไม่
  • อำนาจอธิปไตยนั้น โดยหลักสากล แต่ละรัฐจะมีองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอยู่ 3 องค์กร ได้แก่ อำนาจบริหาร (รัฐมนตรี) อำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และอำนาจตุลาการ (ศาล)
    • ฝ่ายบริหาร: รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี -- หน้าที่ นำกฎหมายมาบังคับใช้และออกกฎหมายบางส่วนที่มีความสำคัญน้อยกว่านิติบัญญัติ
    • ฝ่ายนิติบัญญัติ: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร -- หน้าที่ ออกกฎหมาย พิจารณาเงินงบประมาณและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
    • ฝ่ายตุลาการ: หน่วยงานศาลและกระทรวงยุติธรรม -- หน้าที่ ตีความตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัดสินพิจารณาคดี

รัฐธรรมนูญ-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

  • รัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

ขั้นตอนการแก้ไข-ผู้เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 (1) : ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายนี้ด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
  • มาตรา 291 (2) : ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
  • มาตรา 291 (3) : การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคำแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
  • มาตรา 291 (4) : การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
  • การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
  • มาตรา 291 (5) : เมื่อพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
  • มาตรา 291 (6) : การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
  • มาตรา 291 (7) : เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อยถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อห้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 (1) วรรคสอง : ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ผ่านมา

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93-98 -- แก้ไขจำนวนอัตราส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร -- แก้ไขในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 -- เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องของการทำหนังสือสัญญาระหว่างบุคคลในทางระหว่างประเทศกล่าวคือระหว่างรัฐกับรัฐและระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ -- แก้ไขในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

312 ส.ว. และ ส.ส. เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2550 ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.

  • 20 มีนาคม 2556 : ส.ว. และ ส.ส. จำนวน 312 คน (เสนอตามเงื่อนไขที่สอง ในมาตรา 291 (1)) ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ "แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง"

เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2556 (โดยสำคัญ)

  • ร่างแก้ไข มาตรา 111 : วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคน
  • ร่างแก้ไข มาตรา 112 : การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

68 ส.ว. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2550 ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.

  • 28 กันยายน 2556 : ส.ว. จำนวน 68 คน ส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัย ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. มีความขัดแย้งต่อหลักการและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

  • การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย และร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่จะประกาศใช้บังคับ มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
  • การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
  • การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 20 พฤศจิกายน 2556 อ้างอิงรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 68

  • ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (อ่านข่าว: ศาลรธน.ฟันธง ส.ว.สรรหา ใครอย่าแตะ - ผิด รธน.แต่ไม่ถึงยุบพรรค)
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 : บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

นิติราษฎร์แถลง: คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

  • คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่กลับสถาปนาอำนาจดังกล่าวขึ้นมาเอง จึงเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด (รายละเอียดเพิ่มเติม: นิติราษฎร์แถลง: กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว.)

อ้างอิง: